เทคโนโลยี-การศึกษา

เปิดตัว “ สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ” ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ของโลก

เปิดตัว “ สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ” ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ของโลก 

เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2562 ณ อาคารสิรินธร สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติ  ม.ราชภัฏนครราชสีมา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และอดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการแถลงข่าว เปิดตัวไดโนเสาร์โคราชกินเนื้อสายพันธุ์ใหม่ขนาดใหญ่ของโลก “สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ”โดยมี ตัวแทนจาก 3 หน่วยงาน คือ นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดี ม.ราชภัฏนครราชสีมา และบุคคลสำคัญร่วมพิธีอย่างพร้อมเพรียง

โดยกิจกรรมในครั้งนี้ มีผู้รับเชิญพิเศษในฐานะผู้สนับสนุนการอนุรักษ์และวิจัยฟอสซิลและมีความเกี่ยวข้องกับชื่อชนิดใหม่ของไดโนเสาร์ มาร่วมงาน ด้วยโดยมีผู้วิจัยคือ ดร.ดวงสุดา โชคเฉลิมวงศ์ และคณะผู้ที่มาร่วมเสนอผลการวิจัยคือ Prof. Dr. Yoichi Azuma ผอ.พิเศษพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์จังหวัดฟูกุอิ ประเทศญี่ปุ่น กับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ประเทือง จินตสกุล ผอ.สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ ร่วมให้ข้อมูล

 สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ หรือ Siamraptorsuwati ค้นพบจากแหล่งขุดค้นบ้านสะพานหิน ต.สุรนารี  อ.เมือง จ.นครราชสีมา ตั้งชื่อสกุลตามชื่อเดิมของประเทศไทย (สยาม) อันหมายรวมถึง “นักล่าแห่งสยาม” และตั้งชื่อชนิดเพื่อเป็นเกียรติแก่ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และอดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่ส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานอนุรักษ์และวิจัยฟอสซิลของสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ มาถึง 25 ปี

สยามแรปเตอร์มาจากการศึกษา ค้นคว้า จากฟอสซิลรวมทั้งสิ้น 22 ชิ้น ซึ่งประกอบไปด้วย ชิ้นส่วนกะโหลก กระดูกขากรรไกรบน-ล่าง กระดูกคอ กระดูกหลัง กระดูกหาง กระดูกสะโพก กระดูกขาหลัง กรงเล็บ กระดูกนิ้วเท้า ฟอสซิลดังกล่าวคาดว่ามาจาก สยามแรปเตอร์ไม่ต่ำกว่า 4 ตัว สยามแรปเตอร์จัดเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อสกุลใหม่และชนิดใหม่ที่ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเท่าที่มีการศึกษามา

โดยมีขนาดยาวไม่ต่ำกว่า 8 เมตร ทั้งนี้คำนวณจากชิ้นส่วนกระดูกขากรรไกรล่างที่ค่อนข้างสมบูรณ์ จัดอยู่ในสายวิวัฒนาการของพวกอัลโลซอรอยเดีย ในไดโนเสาร์จำพวกคาร์คาโรดอนโตซอเรียน จากการอธิบายลักษณะทางกายภาคของตัวอย่าง ร่วมกับการวิเคราะห์ความหลากหลายและความสัมพันธ์ทางพันธุกรรม

สยามแรปเตอร์ จัดอยู่ในจำพวกไดโนเสาร์กินเนื้อฟันฉลาม ที่มีความเก่าแก่และมีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้การค้นพบนี้ ถือเป็นหลักฐานว่าไดโนเสาร์กินเนื้อฟันฉลามนี้ ได้มีการกระจายตัวในทวีปเอเชียแอฟริกาและยุโรปตั้งแต่ยุคครีเทเชียสตอนต้น หรือเมื่อประมาณ 115 ล้านปีก่อน

การวิจัยครั้งนี้ เป็นผลจากความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ ที่ได้ตกลงทำบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่างประเทศกับพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์จังหวัดฟูกุอิ ประเทศญี่ปุ่น ร่วมกันสำรวจและขุดค้นซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 จนถึงปัจจุบัน นับเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ผลการขุดค้น ในปี พ.ศ. 2554 ได้ค้นพบไดโนเสาร์อิกัวโนดอนต์พันธุ์ใหม่ของโลกนาม “ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ” (Ratchasimasaurussuranareae; Shibata et al., 2011) ผลงานวิจัยได้ตีพิมพ์ในวารสาร ACTA GEOLOGICA SINICA ต่อมาปี พ.ศ. 2558

มีการค้นพบไดโนเสาร์อิกัวโนดอนต์พันธุ์ใหม่ของโลกนาม “สิรินธรน่า โคราชเอนซิส”(Sirindhornakhoratensis; Shibata et al., 2015) ผลงานวิจัยได้ตีพิมพ์ในวารสาร PLOS ONE และล่าสุดในปีนี้ ผลงานวิจัยการค้นพบไดโนเสาร์กินเนื้อสายพันธุ์ใหม่ของโลก นำโดย ดร.ดวงสุดา โชคเฉลิมวงศ์ Dr. Soki Hattori Dr. Elena Cuesta ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล Dr. Masateru Shibata และ Dr. Yoichi Azuma ตีพิมพ์เผยแพร่ใน วารสาร PLOS ONE(https://doi.org/10.1371/journal.pone.0222489) เผยแพร่ออนไลน์ไปเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา

 

 

 

 

เทคโนโลยี-การศึกษา

Tag ข่าวโคราช

Tag ##ข่าวโคราช,โคราช,ข่าว,หนังสือพิมพ์ข่าวโคราช