ส่วนราชการ – อปท
ผู้สูงวัยตั้งกลุ่ม ผลิตข้าวโป่งเมืองย่าโม สสส.จับมือภาคีเครือข่ายหนุน ยกระดับคุณภาพชีวิต/เศรษฐกิจในชุมชน
ผู้สูงวัยตั้งกลุ่ม ผลิตข้าวโป่งเมืองย่าโม สสส.จับมือภาคีเครือข่ายหนุน ยกระดับคุณภาพชีวิต/เศรษฐกิจในชุมชน
นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมความก้าวหน้าโครงการ “โคราชเมืองน่าอยู่ คนเข้มแข็ง ท้องถิ่นแข็งแรง” เพื่อติดตามการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพของ สสส. และภาคีเครือข่ายระดับพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลหินดาด ที่บ้านห้วยยาง หมู่ 7 ต.หินดาด อ.ห้วยแถลง จ.นครราชสีมา นั้นผลดำเนินงานประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยกิจกรรมที่ทาง สสส.ร่วมกับ อบต.หินดาดเข้ามาสนับสนุนคือการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยในชุมชนรวมกลุ่มกันผลิตข้าวโป่งจนเป็นกลุ่มที่เข้มแข็ง ผู้สูงวัยมีความสุข สนุกและรู้สึกมีคุณค่าในการทำข้าวโป่งเป็นอาชีพจนได้รับการยอมรับและมีชื่อเสียงระดับประเทศ
ปัจจุบันพื้นที่รับผิดชอบของ อบต.หินดาด มีทั้งหมด 15 หมู่บ้าน ประชากร 5,625 คน 1,285 ครัวเรือน ประชากรส่วนใหญ่ 71% ประกอบอาชีพทางการเกษตร แต่ก็ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ทาง อบต. จึงได้มีการส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่มีอาชีพเสริมกันเกือบทุกหมู่บ้าน อย่างเช่นกลุ่มผลิตข้าวโป่งบ้านห้วยยาง ขณะเดียวกันก็มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนให้ความช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อยด้วย
นายพิบูลย์ แสงสุระ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหินดาด กล่าวถึงความเป็นมาของกลุ่มผู้ผลิตทำข้าวโป่งว่า หลังจากมองเห็นศักยภาพในการผลิตทาง อบต.หินดาด ได้ประสานขอความร่วมมือไปยังมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มาถ่ายทอดเทคโนโลยี ทั้งการผลิตและบรรจุภัณฑ์ จนสามารถยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ให้เป็นที่ยอมรับของตลาด ส่งผลให้สมาชิกในกลุ่มผู้ผลิตมีรายได้เพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกันข้าวโป่งบ้านห้วยยาง ยังช่วยให้เกษตรกรที่ผลิตวัตถุดิบให้ มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย กล่าวคือกลุ่มผู้ผลิตจะรับซื้อข้าวอินทรีย์ กล้วย มัน จากเกษตรกรในพื้นที่ ทำให้กลุ่มอื่นๆ ได้รับประโยชน์จากการผลิตข้าวโป่งดังกล่าว ทำให้เศรษฐกิจการเงินหมุนเวียนในชุมชนอย่างทั่วถึง ขณะนี้ชาวหินดาดทั้งหมด 15 หมู่บ้านในเขตพื้นที่รับผิดชอบของ อบต.หินดาด มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 40,000 บาทต่อคนต่อปี หรือ 308,587.56 บาทต่อครัวเรือน สูงกว่าเส้นแบ่งความยากจนเล็กน้อย ซึ่งทางอบต.หินดาด ก็จะพยายามต่อไปในการส่งเสริมเศรษฐกิจของชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้ที่มั่นคง โดยเฉพาะเรื่องน้ำเพื่อการเกษตร นอกจากนี้เรายังมีกองทุนในพื้นที่ของเราอีกหลายกองทุนที่จะมาช่วยหนุนเสริมสร้างความอยู่ดีกินดีให้พี่น้องของเรา นายก อบต.หินดาด กล่าว
รศ.ดร.ขนิษฐา นันทบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน(ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ความโดดเด่นของตำบลหินดาด คือการให้ความสำคัญกับกลุ่มอาชีพต่างๆแล้วสร้างกองทุนต่างๆ เข้าไปหนุนเสริมทำให้คนยากลำบากคนด้อยโอกาสได้ประโยชน์จากแนวทางนี้ด้วย อย่างเช่นการส่งเสริมอาชีพให้ผู้สูงอายุ ทาง อบต. ก็ทำกิจกรรมขับเคลื่อน 5 อ. คือ อาหาร การออม อาสา ออกกำลังกาย และอาชีพ และ 5 ก. ได้แก่การป้องกันและลดอุบัติเหตุ โรงเรียนผู้สูงอายุ ชมรมผู้สูงอายุ การดูแลต่อเนื่อง และกายอุปกรณ์ ควบคู่ไปด้วย ผู้สูงอายุก็ได้ประโยชน์ แม้จะช่วยเสริมให้มีรายได้เพียงเล็กน้อย แต่ก็สามารถอยู่ได้ ช่วยลดรายจ่ายได้บ้าง ขณะเดียวกันอบต.หินดาด ก็มีบทบาทในการส่งเสริมการตลาดด้วย อย่างเช่น ข้าวโป่งของบ้านห้วยยาง ก็สนับสนุนให้ขายทางออนไลน์ ซึ่งความโดดเด่นเหล่านี้เกิดจากความร่วมมือของ 4 องค์กรหลักชัดเจนมาก แสดงว่าที่หินดาดนี้ มีการทำงานแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
ด้าน ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส. กล่าวว่า หลังจากตำบลสุขภาวะและเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ดำเนินมากว่า 10 ปี ในปี 2565 นี้ทางสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชนจะได้สรุปบทเรียนการทำงานในช่วงที่ผ่านมาทั้งหมด 13 ประเด็น ทั้งประเด็นการพัฒนาปัญหาพื้นฐานและประเด็นตอบสนองยุทธศาสตร์ สสส.ที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ โดยตลอดระยะเวลาที่ สสส. ทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 3,000 แห่งทั่วประเทศ ได้สร้างรูปแบบและแนวทางการทำงานที่สนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมในการทำงาน โดยเฉพาะความร่วมมือกันระหว่าง 4 องค์กรหลัก ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท้องที่ (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) ภาคประชาชน และหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการทำงานของตำบลในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ส่งผลให้ท้องถิ่นแต่ละแห่งสามารถสร้างนวัตกรรมการจัดการใหม่ๆ ได้เกือบทุกพื้นที่ ก้าวต่อไปของเรา คือการทำงานเจาะลึกทีละประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผู้สูงอายุ อุบัติเหตุ หรือเรื่องปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เพื่อเข้าไปให้ถึงปัญหาของประชาชนอย่างแท้จริง
ดร.ประกาศิต กล่าวว่า ข้อค้นพบสำคัญประการหนึ่งหลังจาก สสส. ทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ ท้องถิ่นมีศักยภาพสูงมาก แทบจะไม่มีข้อจำกัดเลย ดังนั้นคนที่อยู่ในระดับนโยบายควรจะไว้ใจและให้ความเชื่อมั่นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้แล้ว
สำหรับท่านที่อยากลองลิ้มรสชาติของ ข้าวเกรียบว่าวโบราณประยุกต์กลุ่มอาชีพบ้านห้วยยาง อีกหนึ่งของดีเมืองโคราช ติดต่อสั่งซื้อได้ที่ เบอร์โทร. 0887182661 และ 0985644137
ส่วนราชการ-อปท.
Tag ข่าวโคราช
Tag ##ข่าวโคราช,โคราช,ข่าว,หนังสือพิมพ์ข่าวโคราช