ส่วนราชการ – อปท

จิตเวชโคราช สุดไฮเทค เชื่อมระบบ “สมาร์ท ฮอสปิตอล” กับ 5 เครือข่ายร้านยาใกล้บ้าน จ่ายยาจิตเวชติดคิวอาร์โค้ดทุกรายการ!!

จิตเวชโคราช สุดไฮเทค เชื่อมระบบ “สมาร์ท ฮอสปิตอล” กับ 5 เครือข่ายร้านยาใกล้บ้าน จ่ายยาจิตเวชติดคิวอาร์โค้ดทุกรายการ!!

                รพ.จิตเวชนครราชสีมาเชื่อมบริการระบบสมาร์ท ฮอสปิตอล กับ5 เครือข่ายร้านยาแผนปัจจุบัน จ่ายยาจิตเวชติดฉลาก คิวอาร์โค้ดทุกรายการตามนโยบายรับยาร้านยาใกล้บ้าน เผยรอบ15 วันมีผู้ป่วยจิตเวชบัตรทองสมัครใจร่วมโครงการแล้ว 5 คน รายแรกจะเริ่มรับยาวันที่31ต.ค.2562คาดจำนวนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้านญาติเอ่ยปากชมว่า สะดวกกว่าไปรพ.หลายเท่าตัวไม่ขาดรายได้ พร้อมเตรียมประชุมอบรมเภสัชกรร้านยาเครือข่ายทั้งวิชาการ มาตรฐานบริการในวันที่21-22 ต.ค.นี้

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562  ที่โรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายแพทย์สำเริงแหยงกระโทก ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยแพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล สาธารณสุขนิเทศก์ประจำเขตสุขภาพที่ 9,นายแพทย์วิชาญ คิดเห็นรองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา,นายแพทย์ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ,แพทย์หญิงลลิตยา กองคำ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 9,ภก.ดร.วิศิษฏ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้ทรงคุณวุฒิอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพเขต และประธานโครงการเข้าถึงบริการสุขภาพในร้านยาเขตสุขภาพที่ 9 และคณะตรวจเยี่ยมติดตามความคืบหน้าและปัญหาอุปสรรคการดำเนินงานลดความแออัด รับยาใกล้บ้าน ตามนโยบายของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หลังจากเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2562 เป็นต้นมา โดยมีนายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯและคณะผู้บริหารให้การต้อนรับและบรรยายสรุปความคืบหน้าโครงการ

นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวว่า รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ เป็นรพ.เฉพาะทางในสังกัดกรมสุขภาพจิต1 ใน2 แห่งแรกที่เปิดให้บริการโครงการรับยาจิตเวชใกล้บ้านระยะที่ 1นำร่องในเขตอ.เมืองนครราชสีมาซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีประชากรมากที่สุดในจังหวัดประมาณ 400,000 กว่าคน มีผู้ป่วยจิตเวชที่ต้องกินยาต่อเนื่องและขึ้นทะเบียนรักษาที่รพ.จิตเวชฯประมาณ 700-1,000 คน ส่วนใหญ่เป็นโรคซึมเศร้าและจิตเภทประเภทเรื้อรัง ในรอบ 15 วันแรกนี้ มีผู้ป่วยจิตเวชสิทธิบัตรทองที่มีอาการคงที่และสมัครใจรับยาที่ร้านยาแผนปัจจุบันที่เข้าร่วมโครงการกับรพ.จิตเวชฯจำนวน5 แห่ง  รวม 5 คน ประกอบด้วยร้านอมรินทร์เภสัช 2 คน ร้านเรือนยา 1 คน ร้านตะกร้ายา 1 คนและร้านปัญจสรณ์ 1 คน คาดว่าจำนวนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆโดยผู้ป่วยจิตเวชรายแรกจะเริ่มไปรับยาที่ร้านยาที่กล่าวมาในวันที่ 31 ต.ค.2562 เป็นต้นไป

นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวต่อว่า ขณะนี้รพ.จิตเวชฯได้เชื่อมต่อระบบบริการด้วยสมาร์ท  ฮอสปิตอล กับร้านยาทั้ง 5 แห่งที่ร่วมโครงการ เป็นเครือข่ายบริการรูปแบบใหม่ในพื้นที่ร้านยาสามารถตรวจสอบรายการยาและจ่ายยาชนิดเดียวกับที่รพ.จิตเวชฯจ่ายให้ผู้ป่วยได้ทันที โดยยาจิตเวชทุกตัวจะติดคิวอาร์โค้ดหรืออาร์ดียู (Rational Drug Use:RDU)ที่ซองยา ซึ่งเป็นจุดเด่นในระบบบริการ  ทั้งผู้ป่วยญาติและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะรู้จักตัวยา เข้าใจฤทธิ์ของยารวมทั้งผลข้างเคียงของยาบางตัว รวมทั้งข้อระมัดระวังต่างๆ ในการปฏิบัติตัวระหว่างที่กินยา จะเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลระหว่างที่ผู้ป่วยอยู่ที่บ้านได้ดียิ่งขึ้น ผู้ป่วยได้กินยาอย่างต่อเนื่อง จะทำให้อาการทางจิตสงบ  ใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนเหมือนคนทั่วไป  ซึ่งขณะนี้ผู้ป่วยจิตเวชประมาณร้อยละ 90-95จะอยู่ในชุมชน จากการพูดคุยกับญาติผู้ป่วย พบว่ามีความพอใจโครงการนี้มาก บอกว่าสะดวกประหยัดกว่าเดิมหลายเท่าตัวเพราะจะไปรับยาช่วงไหนก็ได้ตั้งแต่เวลา 8.00-20.00 น. โดยไม่ต้องหยุดงาน หรือขาดรายได้เหมือนที่ผ่านมา

ด้านเภสัชกรหญิงจุฑามณี ดุษฎีประเสริฐ รองผู้อำนวยการด้านการพัฒนาคุณภาพสู่ความเป็นเลิศของรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯกล่าวว่ากลุ่มงานเภสัชกรรมรพ.จิตเวชฯได้ออกใบนัดให้ผู้ป่วยจิตเวชที่แพทย์ตรวจอาการแล้วว่ามีอาการคงที่ ให้ไปรับยาที่ร้านยาเครือข่ายทุก 3 สัปดาห์ติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือน และกลับมาพบแพทย์ที่รพ.จิตเวชฯเพื่อตรวจประเมินอาการเป็นระยะๆ มีระบบเชื่อมต่อข้อมูลผู้ป่วยทางระบบออนไลน์ระหว่างรพ.กับร้านยาแบบเรียลไทม์  พร้อมทั้งวางระบบป้องกันปัญหาขาดยา ติดตามผลการรักษาและอาการข้างเคียงโดยให้ผู้ป่วยถือใบนัดพร้อมด้วยบัตรประชาชนของผู้ป่วยเองหรือญาติที่ขึ้นทะเบียนไว้กับรพ.จิตเวชฯไปรับยาแทน ไปแสดงที่ร้านขายยาตามที่แจ้งความประสงค์ไว้ทุกครั้ง  หากไม่สามารถไปตามนัด ให้โทรแจ้งยังร้านขายยาล่วงหน้า 1 วัน 

ซึ่งในวันที่ 21-22 ต.ค.2562 นี้กลุ่มงานเภสัชกรรมจะเชิญเภสัชกรจากร้านขายยา 5 แห่ง คือ ร้านตะกร้ายา อมรินทร์เภสัช ร้านเรือนยา ร้านปัญจสรณ์เภสัช  และร้านพี.อาร์ฟาร์มาซีมาประชุมซักซ้อมความพร้อมทั้งด้านระบบบริการ และเพิ่มศักยภาพการจ่ายยาจิตเวชภายใต้มาตรฐานเดียวกัน และจะประเมินโครงการเมื่อครบ 1 เดือน เพื่อพัฒนามาตรฐานและใช้เป็นต้นแบบขยายผลในพื้นที่อื่นใน จ.นครราชสีมาและอีก 3 จังหวัดที่อยู่ในเขตสุขภาพที่ 9ที่อยู่ในความดูแลของรพ.จิตเวชฯคือที่ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์ระยะต่อไป

ส่วนราชการ-อปท.

Tag ข่าวโคราช

Tag ##ข่าวโคราช,โคราช,ข่าว,หนังสือพิมพ์ข่าวโคราช